Saturday, November 21, 2015

ความจนและหนทางไกลห่าง

“จน เครียด กินเหล้า” โฆษณาของ สสส. เพื่อรณรงค์ให้คนไทยเลิกดื่มเหล้ากลายเป็นโฆษณาที่ติดตาประชาชนอยู่ในช่วงนี้ เหมือนจะบอกประชาชนว่า หากกินเหล้าแล้วจะทำให้จน เมื่อจนจึงเกิดความเครียด และเมื่อเครียดจึงหาทางระบายด้วยการดื่มเหล้า คล้ายเป็นวงจรอุบาทว์ของความจนที่บังเอิญถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มเหล้าด้วย

ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของโฆษณาดังกล่าวต้องการที่จะรณรงค์งดเหล้าก็ตาม จะเห็นว่าเรื่องของ
“ความจน” ก็เป็นประเด็นที่มีน้ำหนักไม่ต่างจากพฤติกรรมการดื่มเหล้า และได้รับการที่ได้กล่าวถึงมากไม่ว่าจะปัจจุบันหรืออดีตที่ผ่านมา ไม่ว่ายุคสมัยไหน รัฐบาลก็จะบรรจุนโยบายขจัดความจนไว้ในการบริหารประเทศเสมอ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความจน ที่น่ารังเกียจของสังคมนี้ก็ยังไม่หมดไปเสียที ใครๆได้ยินคำนี้แล้วก็คงเบื่อหน่าย รังเกียจและชิงชัง ไม่อยากพบอยากเจอ ไม่ว่าชาติไหนๆ ความจนที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้นี้ได้ฝังรากลึกในบ้านนี้เมืองนี้ไปแล้ว ดังนั้นความจนนี้จึงน่าศึกษา เหตุเพราะมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน
หญิงสาวที่ตวาดใส่ชายหนุ่มว่า เหม็นสาปคนจน เป็นคำพูดที่แสนเจ็บปวดแบบฝังลึกของชายหนุ่มหลายคน ถึงแม้ว่าบางครั้งจะเป็นการพูดเล่นก็ตาม
พิจารณาตามเหตุปัจจัย ตามหลักอิทธิบาท 4
1. “จน...อย่างไรเรียกว่า จน
คงยากที่จะระบุว่าสภาพใดของบุคคล หรือสังคมที่อยู่ในสภาพ จน แต่พออธิบายได้ว่า ความจนนี้รับรู้และสัมผัสได้โดยผ่านความรู้สึก ผ่านชีวิตประจำวันและการเป็นอยู่ จริงๆแล้วหากเรียกว่า ยากจน , ยากเข็ญ , ข้นแค้น , ลำบาก ก็น่าจะให้ความหมายได้ง่ายกว่า เพราะ ความจน หากหมายถึง “ความยากลำบาก” ในการ “เป็นอยู่” ในชีวิตประจำวันแล้วก็คงพอเข้าใจได้ แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร
ชีวิต หรือความเป็นอยู่ของแต่ละคน หรือแต่ละสังคมย่อมมีความแตกต่างกัน เช่น สังคมเกษตรกรรม, สังคมค้าขาย, สังคมข้าราชการ ฯลฯ สุดแล้วแต่จะเรียก กรณีนี้ได้แบ่งความเป็นอยู่ของสังคมออกไปตามลักษณะการประกอบอาชีพ ซึ่งน่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ในแต่ละสังคมประกอบด้วยผู้คนที่อาศัยอยู่รวมกันและประกอบอาชีพเพื่อ “หาเลี้ยงตนเองและครอบครัว สำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว และหาเลี้ยงตนเองหรือคนรัก ในกรณีคนที่ยังโสด ดังนั้นในขั้นนี้จะเห็นว่า การเลี้ยงดูชีวิต (ตนเอง คนรัก หรือครอบครัว) นั้นหมายถึงการได้มาซึ่ง “ปัจจัยพื้นฐาน” เพื่อการดำรงชีพ ซึ่งอาจเป็นปัจจัย 4 หรือปัจจัยอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ (อาจไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน) และต้องใช้เงินตราเพื่อซื้อปัจจัยต่างๆไว้เพื่อการ “อุปโภค-บริโภค” ภายในครัวเรือน เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว เงิน จึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนมากหากต้องการ “จับจ่ายใช้สอย” ด้วยเงิน ดังนั้นหากมีเงินไม่พอก็ไม่สามารถซื้อในสิ่งที่ต้องการได้ เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการก็เป็นทุกข์ และหากต้องการเงินคนเราก็ต้องมีอาชีพเพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทนเป็น “เงิน” หรือต้องขวานขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน หากต้องการเงินเพิ่มขึ้นคนก็ต้องทำงานหนักขึ้น หรือเปลี่ยนงานที่ให้ค่าตอบแทนมากกว่าเดิน หรือต้องเรียนหนังสือเพื่อให้จบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น หรือบางครั้งบางคนอาจเลือกวิธีคดโกง ทุจริตก็เป็นได้ ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในสังคม
สภาพชีวิตที่ลำบากและดิ้นรนเพื่อแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีวิตแล้วไม่ได้มาซึ่งปัจจัยที่ต้องการ หรือได้มาไม่เพียงพอนี้กระมังที่ทำให้คนเรานิยามคำว่า “จน” ขึ้นมา หรือบางทีอาจมีสาเหตุมากกว่านี้ที่ผมยังคิดไม่ถึง
2. เหตุแห่ง "ความจน"
หากจะพิจารณาโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ความจนที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดด้วยความไม่สัมพันธ์กันระหว่างรายรับ-รายจ่าย การมองเช่นนี้มองในแง่ของ "เงิน" เพียงด้านเดียว ผมสังเกตจากการเปรียบวิถีชีวิตระหว่างคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนชนบทที่มีรายได้จากการทำนา โดยเฉพาะการทำนาที่ทำเพียงปีละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน (มีบางคนกล่าวว่า ดำวันแม่ เกี่ยววันพ่อ หมายถึง ไถ คราด หว่าน ดำ ในราวเดือน สิงหาคม และเก็บเกี่ยวประมาณเดือนธันวาคม) แต่ระยะเวลาอาจไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับฟ้าฝนด้วย กระบวนการทำนานั้นเรียกได้ว่าสุดแสนจะลำเค็ญ เพราะจำเป็นต้องใช้ทั้งแรงงาน (คน, ควาย), เงินทุน และเทคโนโลยี (ปุ๋ย, ยากำจัดศรัตรูพืช, ยาฆ่าแมลง, เครื่องจักร) เกือบทุกขั้นตอนอาจต้องจ้างแรงงาน ซึ่งปัจจุบันค่าจ้างอยู่ราวๆ 120 บาท/คน/วัน ผมไม่ทราบว่าชาวนาใช้ปุ๋ยกี่กิโลกรัม/ไร่ ในช่วงที่ข้าวแตกกอ บางรายอาจใช้ยาฆ่าปู, หอย ซึ่งจะตกค้างในดิน, น้ำ และทำลายความสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งอาจส่งผลต่อสัตว์ชนิดอื่น ทำให้ระบบนิเวศน์ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ การใส่ปุ่ยเคมียังทำให้ดินเค็มอีกด้วย (ตามข้อสังเกตุนี้ ในระยะยาวผลผลิตจึงน่าจะมีแนวโน้มลดลง) การทำนาที่ต้องหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินนี้ทำลายสุขภาพของชาวนา และเสี่ยงต่อโรคภัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโรคปวดเมื่อย, โรคไข้ฉี่หนู, โรคที่เกิดจากน้ำเป็นพาหะ (ท้องร่วง, อหิวา)...ฯลฯ ความลำเค็ญหลายประการบังเกิดขึ้นที่ทุ่งนา ถึงแม้ที่นี่จะเป็นแหล่งสร้างผลผลิตให้ชาวนาก็ตาม...ชาวนาบางคนต้องเป็นหนี้สิน เพราะเมื่อเงินไม่พอซื้อปุ๋ย ก็ต้องใช้วิธีเชื่อ คือใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง สิ่งของหลายอย่างในตลาดหามาได้ด้วยการเชื่อพ่อค้าในตลาด แล้วจ่ายคืนเมื่อขายผลผลิต (รวมทั้งดอกเบี้ย...) ชาวนายังชีพด้วยข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักที่หาได้เอง ส่วนอาหารจำเป็นต้องแสวงหาเอาตามท้องไร่ท้องนานั่นเอง ในยามอดอยากก็แสนอด ปลา 1 ตัว อาจเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวได้ทั้งบ้าน โดยการทำน้ำพริก จิ้มผักลวก และข้าวเหนียว อาจมีข้าวโพดต้ม, กล้วย หรือผลไม้อย่างอื่นอีกตามแต่จะหาได้ ผมเคยเห็นครอบครัวหนึ่ง มีลูก 8 คน รวมลูกเขย, ลูกสะไภ้อีก ก็เกือบ 12 คน พ่อ-แม่ อีก เป็น 14 คน รุมกินน้ำพริกในด้วย พวกเขาเชื้อเชิญผมไปร่วมด้วย ผมได้แต่บอกว่าผมกินมาแล้ว...ความรู้สึกตอนนั้นมันบอกไม่ถูก ไม่ได้รังเกียจเพียงแต่นึกเห็นใจคนจำนวนมากที่ร่วมวงอยู่ที่มีกับข้าวเพียงน้อยนิด แต่พวกเขาก็อยู่ได้ และโตขึ้น เพียงแต่ไม่ค่อยมีเนื้อหนังเท่าไร ถึงแม้ชาวนาจะหาอาหารได้เอง แต่ค่าอาหารนั้นไม่ได้แพงมากนัก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น การต่อเติมบ้าน, การแต่งงาน, การจัดงานต่างๆ (ขึ้นบ้านใหม่, การเดินทาง, การซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ) ดังนั้น เพียงรายได้จากการขายข้าวปีละครั้ง จึงไม่พอกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ประกอบกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ของใช้หลายอย่างจากที่ไม่เคยซื้อ ตอนนี้ต้องซื้อแล้ว เช่น กระดาษชำระ น้ำยาล้างจาน, น้ำยาล้างห้องน้ำ



No comments: