Saturday, September 30, 2006

อโรคยา ปรมาราภา

เป็นความจริงโดยแท้ หากสุขภาพดีแล้วเราก็มีเวลามากขึ้นที่จะทำการงาน คิดเรื่องที่เราชอบ แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้วชีวิตเหมือนแน่นิ่ง แม้จะคิดยังยาก โดยเฉพาะอาการ "ไมเกรน" นี่มักจะมาเยี่ยมผมแทบทุกปี ปีละครั้ง เป็นอย่างน้อย ปีนี้มันชวนเพื่อนมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บคอ, มีไข้, หวัด เรียกว่าครบทีมเลย สุดแสนทรมาน แต่ความทรมานมันยังไม่เท่ากับความอึดอัดรำคาญที่ "อยากจะทำอะไรก็ไม่ได้ทำ" ผมนอนซมอยู่ 2 วันเต็มๆ

นั่นคือสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสัปดาห์ที่บอบช้ำจริงๆ ความจริงในห้วงเวลานั้นผมรำลึก - นึก - ฝัน - และจินตนาการถึงอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่ปัญหาคือมันจำไม่ได้...@!! โธ่เอ๊ย...ไม่อย่างนั้นคงไม่เรียกว่าอาการป่วยของร่างกายหรอกนะ แต่รับรองได้ว่าจิตใจไม่เคยป่วยแน่ๆ... เมื่อใดที่ผมรู้สึกดีขึ้นผมยังหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอยู่เลย "ไอสไตน์ในพุทธปรัชญา" ใกล้จบลงแล้ว เหลือราวๆ 20-30 หน้าเห็นจะได้ สนุกดีไม่หยอก...

เรื่องการดูแลตัวเองนี่สำคัญมาก อย่างผมในวันแรกๆ ที่ไม่สบายนั้นดันไปกินยาพาราหมดอายุ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่มีอันตราย แต่แค่ "ไม่ได้ผล" เท่านั้น ได้ยาของแท้จากเหมียวน้อยแล้วอาการไข้จึงหายภายใน 3 ชั่วโมง ไม่น่าเชื่อ...นี่แหละน้า ยามันจึงสำคัญกับคนเราเนาะ

ไข้หาย - เจ็บคอหาย - แต่... ไม่เกรนดันไม่หาย หวัดก็ยังอยู่ โอ้แม่เจ้ามันช่างรักผมเสียจริง เมื่อไหร่มันจะไปๆ เสียทีนะ สุดท้ายผมได้รับยา Vitamin B. รวม + ยาบำรุงประสาท จากเหมียวน้อยใจดีคนเดิม อาการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหวัดเหรอ... มันก็ยังไม่ยอมไปอยู่ดี อุบ๊ะ...!!! ให้ทำไงวะเนี่ย...( What the hell are flu...?..!)


เพื่อนหนุ่ยแวะมาเยี่ยม แถมเอาคลอเฟนิรามีนมาฝาก (เป็นยาแก้แพ้ที่กินแล้วง่วงฉิ-บ-หา-ย...!) มันก็ยังอุตส่าห์ให้วิชาหยินหยาง มันบอกว่า "ดื่มน้ำอุ่นตอนเช้า ดื่มน้ำเย็นตอนบ่าย, อาบน้ำเย็นตอนเช้า อาบน้ำอุ่นตอนบ่าย - มันทำอย่างนี้แล้วไม่เคยเป็นไข้มาหลายปีแล้ว แม่เจ้า...ถ้าเป็นจริงก็คงดีว่าจะลองทำดูอยู่นะเนี่ย ใครที่อ่านเจอแล้วเชื่อไม่เชื่อประการใด หรือเคยลองมาแล้วก็ช่วยให้ความเห็นหน่อยสิ...

แต่ขอบอก... ผมยังไม่ยอมแพ้ หากหายเมื่อไหร่จะไปซ้อมวิ่งมาราธอน กะจะเข้าแข่ง "ขอนแก่นมินิฮาร์ฟมาราธอน 2007" นะเนี่ย... ไม่รู้จะทำได้รึเปล่านะ หุๆ...อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าใจเราไม่แพ้ ว่ามั้ยครับ...bye

Saturday, September 23, 2006

ปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


และแล้วรัฐบาลทักษินก็ถึงจุดจบ เมื่อทหารและตำรวจรวมกำลังกัน ในชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ได้ทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจโดยให้เหตุผลตามประกาศดังนี้ (เนื้อหาจาก http://news.sanook.com/politic/politic_21787.php)



ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 1 : คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดย วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 17:13 น.
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ด้วยเป็นที่ปรากฏโดยแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคม จะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้
ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน
ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 23.50 น.

ลงชื่อ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

ภาพคณะปฏิรูปเข้าเฝ้าในหลวงและพระราชินี


ดูข่าวไปตื่นเต้นไป นึกไม่ถึงว่าจะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง จากครั้งที่ผ่านมาในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย โดย "คณะ ร.ส.ช." ในปี 2534 และหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์วิปโยค "พฤษภาทมิฬ" หากแต่ครั้งนี้ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากหลังการรัฐประหารมีประชาชนมาแสดงความยินดีกันตามถนนมากมายเต็มไปหมด ทหารที่เข้ามาประจำการ ณ สถานที่ต่างๆ ทุกคนผูกริบบิ้นสีเหลืองไว้ที่บ่าบ้าง, ที่ปลายปืนบ้าง เป็นสัญลักษณ์บอกถึงการเป็น "ทหารของพระราชา" ดูมีพลังน่าเกรงขาม
บรรดารัฐมนตรีของรัฐบาลทักษินบางคนหนีไปกบดานต่างประเทศ สำหรับทักษินเองอยู่ที่อังกฤษกับลูกเมีย และคงยากที่จะกลับมาเล่นการเมืองได้อีก เพราะวิกฤติศรัทธาของประชาชนมีมากเหลือเกิน ดังจะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี ที่มีกระแสข่าวในด้านลบจากสื่อมวลชน นักวิชาการต่างๆ มากมาย รัฐบาลเองได้แต่เพียงออกมากลบเกลื่อนข่าวไปวันๆ โดยไม่มีความชัดเจนอะไรเลย


นโยบายต่างๆที่ออกมาโดยความเห็นส่วนตัวของผมแล้วเหมือน "เป็นการหาเสียงระยะยาว นัยว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชน หากแต่ซ่อนไว้ซึ่งการมอมเมาประชาชนไปในตัว" เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน, นโยบายหวยบนดิน, วิสาหกิจชุมชน, บ้านเอื้ออาทร, การขจัดความยากจน และนโยบายอื่นๆที่จำไม่ได้แล้ว เรียกรวมๆว่า "นโยบายประชานิยม"

สิ่งที่น่ายินดีก็คือการรัฐประหารในครั้งนี้ทางคณะปฏิรูปฯ ได้ให้คำรับรองว่าไม่มีเจตนาที่จะเข้าบริหารประเทศเสียเอง หากแต่จะคืนอำนาจให้ประชาชน และเร่งจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลโดยเร็วที่สุด (ภายใน 2 สัปดาห์)

ได้แต่ภาวนาให้ประเทศชาติสงบสุขเร็วๆ และอยากเห็นคนในชาติสมานสมัครสามัคคีกันเพื่อให้ประเทศชาติได้วิวัฒนาการไปในวิถีทางที่มั่นคง มีรัฐบาลที่เป็นธรรมาภิบาล มีกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนในชาติได้รับการศึกษาจนเกิดปัญญา สามารถร่วมตรวจสอบการเมืองให้ดำเนินไปในทางที่ชอบ

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

Friday, September 22, 2006

ไอสไตน์ในพุทธปรัชญา

ผมกำลังอ่านหนังสือเรื่อง "ไอน์สไตน์ในพุทธปรัชญา" เขียนโดย "ธนู แก้วโอภาส" ซึ่งผมยืมมาจากอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือคนหนึ่ง ตอนแรกกะจะไปยืมเรื่อง "ยิว" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แต่หนังสือเล่มนั้นมีคนยืมไปแล้ว อาจารย์จึงได้แนะนำหนังสือเล่มนี้ และยังกรุณาให้หนังสือเล่มอื่นๆมาอีก 3-4 หลายเล่ม ซึ่งผมยังไม่ได้อ่าน สำหรับเล่มนี้อ่านได้ครึ่งเล่มแล้ว มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางฟิสิกส์จากอดีตที่นักฟิสิกส์คนสำคัญๆ ของโลกได้ค้นคว้าเกี่ยวกับอะตอม, เอกภพ, ทฤษฎีสัมพันธภาพ, ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ และในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงงานของสตีเฟ่น ฮอร์กิ้งด้วย ซึ่งผมได้อ่านไปแล้วเรื่อง (จำชื่อหนังสือไม่ได้ ... แย่จัง) คุณเฮนนิ่งก็อ่านด้วย แต่เป็นฉบับภาษาอังกฤษ น่าสนใจทีเดียว... หนังสือเล่มนั้นของสตีเฟ่น แปลโดยรอฮีม ปรามาท ทำให้ผมคุยกับคุณเฮนนิ่งรู้เรื่อง เพราะแกชอบพูดถึงควอนตัมฟิสิกเหลือเกินเวลาละเลียดเบียร์ลงคอตอนค่ำๆ...


ถึงแม้จะอ่านยังไม่จบ แต่ก็อยากนำข้อความที่อยู่ปกหลังมาแสดง เพราะอ่านแล้วเห็นว่าน่าสนใจ ดังนี้ครับ

"ไอน์สไตน์มองเห็นว่า ศาสนาพัฒนามาเป็น 3 ขั้นตอน โดยเริ่มแรก เป็นศาสนาของความกลัว ต่อมากลายเป็นศาสนาของศีลธรรม แต่ศาสนาทั้สองประเภทนี้ยังมีพระเจ้าอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ไอน์สไตน์มีความเห็นว่า ศาสนาที่พัฒนาก้าวหน้าสูงสุด เลยศาสนาทั้งสองประเภทนี้ไปแล้ว เป็นศาสนาไม่มีพระเจ้า มีกฎเกณฑ์ที่เป็นระเบียบ และเป็นศาสนาให้มนุษย์มีประสบการณ์ความจริงสูงสุดของเอกภพ ไอน์สไตน์เรียกศาสนาที่พัฒนามาถึงขั้นตอนสูงสุด หรือขั้นตอนที่ 3 เช่นนี้ว่า เป็นศาสนา มีความรู้สึกทางศาสนาสากลจักรวาล (Cosmic Religious Feeling) และกล่าวว่า ศาสนาพุทธมีความรู้สึกทางศาสนาเช่นนี้สูงมาก ความหมายของไอน์สไตน์ในพุทธปรัชญา คือความจริงที่พุทธศาสนาก้าวพ้นไปจากศาสนาเทวนิยม มาเป็นศาสนาของความมีเหตุผล และเป็นศาสนาปลดปล่อยให้มนุษย์เป็นอิสระจากความทุกข์

ธนู แก้วโอภาส"

บันทึกครั้งแรกของผมใน blogger.com


เข้ามาทาง Google.com ก็เห็นว่า Google นี้เขามีอะไรดีๆ เยอะเลย ไม่ว่าจะเป็น search engine, e-mail, พื้นที่สำหรับทำเว็บไซต์ถึง 2 GB. และอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้ง blog

ลองสมัครดูแล้วก็เห็นว่าง่ายมากๆ เดี๋ยวต่อไปจะเข้ามาบันทึกไดอารี่ที่นี่ดีกว่า เพราะถ้าเขียนไว้ในสมุด ประเดี๋ยวก็เต็ม แล้วบางทีก็หาสมุดไม่เจอด้วย

ฉบับหน้าจะเข้ามาอัพเดทข้อมูลดีๆ ใหม่อีกที