Saturday, September 23, 2006

ปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


และแล้วรัฐบาลทักษินก็ถึงจุดจบ เมื่อทหารและตำรวจรวมกำลังกัน ในชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ได้ทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจโดยให้เหตุผลตามประกาศดังนี้ (เนื้อหาจาก http://news.sanook.com/politic/politic_21787.php)



ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 1 : คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดย วัน ศุกร์ ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 17:13 น.
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ด้วยเป็นที่ปรากฏโดยแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคม จะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้
ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน
ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 23.50 น.

ลงชื่อ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

ภาพคณะปฏิรูปเข้าเฝ้าในหลวงและพระราชินี


ดูข่าวไปตื่นเต้นไป นึกไม่ถึงว่าจะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง จากครั้งที่ผ่านมาในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย โดย "คณะ ร.ส.ช." ในปี 2534 และหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์วิปโยค "พฤษภาทมิฬ" หากแต่ครั้งนี้ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากหลังการรัฐประหารมีประชาชนมาแสดงความยินดีกันตามถนนมากมายเต็มไปหมด ทหารที่เข้ามาประจำการ ณ สถานที่ต่างๆ ทุกคนผูกริบบิ้นสีเหลืองไว้ที่บ่าบ้าง, ที่ปลายปืนบ้าง เป็นสัญลักษณ์บอกถึงการเป็น "ทหารของพระราชา" ดูมีพลังน่าเกรงขาม
บรรดารัฐมนตรีของรัฐบาลทักษินบางคนหนีไปกบดานต่างประเทศ สำหรับทักษินเองอยู่ที่อังกฤษกับลูกเมีย และคงยากที่จะกลับมาเล่นการเมืองได้อีก เพราะวิกฤติศรัทธาของประชาชนมีมากเหลือเกิน ดังจะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี ที่มีกระแสข่าวในด้านลบจากสื่อมวลชน นักวิชาการต่างๆ มากมาย รัฐบาลเองได้แต่เพียงออกมากลบเกลื่อนข่าวไปวันๆ โดยไม่มีความชัดเจนอะไรเลย


นโยบายต่างๆที่ออกมาโดยความเห็นส่วนตัวของผมแล้วเหมือน "เป็นการหาเสียงระยะยาว นัยว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชน หากแต่ซ่อนไว้ซึ่งการมอมเมาประชาชนไปในตัว" เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน, นโยบายหวยบนดิน, วิสาหกิจชุมชน, บ้านเอื้ออาทร, การขจัดความยากจน และนโยบายอื่นๆที่จำไม่ได้แล้ว เรียกรวมๆว่า "นโยบายประชานิยม"

สิ่งที่น่ายินดีก็คือการรัฐประหารในครั้งนี้ทางคณะปฏิรูปฯ ได้ให้คำรับรองว่าไม่มีเจตนาที่จะเข้าบริหารประเทศเสียเอง หากแต่จะคืนอำนาจให้ประชาชน และเร่งจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลโดยเร็วที่สุด (ภายใน 2 สัปดาห์)

ได้แต่ภาวนาให้ประเทศชาติสงบสุขเร็วๆ และอยากเห็นคนในชาติสมานสมัครสามัคคีกันเพื่อให้ประเทศชาติได้วิวัฒนาการไปในวิถีทางที่มั่นคง มีรัฐบาลที่เป็นธรรมาภิบาล มีกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนในชาติได้รับการศึกษาจนเกิดปัญญา สามารถร่วมตรวจสอบการเมืองให้ดำเนินไปในทางที่ชอบ

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง

No comments: