รัฐบาลตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมามาดูกันซิว่า เขามีงานอะไรทำบ้าง
ในอดีตเคยมี รมต.กระทรวงนี้ปิ๊งไอเดียเด็ดจะนำพระเข้าไปสวดมนต์ในห้าง ประมาณว่าจะให้ผู้คนที่ไปเที่ยวห้างนอกจากจะได้สินค้าฟุ่มเฟือย, ดูหนังน้ำเน่า, แฟชั่นแต่งตัวบ้าบอแล้ว ยังได้รับบุญกุศลกลับไปบ้านด้วยอีกแรงหนึ่ง ผมรู้สึกอยากจะเอาหัวชนกำแพง ...เฮ้อ คิดได้ไงนี่ น่าสรรเสริญ
และล่าสุดได้ยินว่ากระทรวงนี้จะหาทางแก้ไขปัญหาพวกเด็กวัยรุ่นมั่วเซ็กส์โดยจัดตั้งโครงการบวชสามเณรฤดูร้อน, ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท, ฟังเทศน์อบรมบ่มนิสัย แล้วคิดเหรอว่าโครงการพวกนี้จะแก้ปัญหาเด็กใจแตกอะไรพวกนี้ได้ นอกจากนั้นกระทรวงนี้จะจัดระเบียบหอพัก โดยเข้าไปตรวจสอบหอพักที่ปล่อยปละละเลยให้เด็กนักเรียนมาพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ฉันท์สามีภรรยา โดยเข้าไปกวดขันเจ้าของหอพัก หากพบเหตุการณ์ดังกล่าวจะจับและปรับเจ้าของหอพัก อะไรเทือกนั้น
ผมเขียนถึงเรื่องน่าเบื่อและซีเรียสนี้ เพียงเพื่อจะบอกว่า การแก้ไขปัญหาแบบนี้มันแสนจะตลกและไม่สอดคล้องกับเหตุของปัญหาเอาเสียเลย ไม่ต่างอะไรกับการที่คุณทักษินให้ชาวบ้านพับนกกระดาษแล้วขนขึ้นเครื่องบินโปรยลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่ก็เช่นกัน คนยิงกันเดือดร้อน คงแก้ไม่ได้เพียงพับนกกระดาษไปโปรย ได้แค่ความสนุกและความหวังลมๆแล้งๆ เมื่อไหร่เขาจะคิดกันให้ละเอียดลึกซึ้งแบบเข้าถึงซึ่งสาเหตุ, กลไกของปัญหาเสียที...
ผมเก่งนักหรือที่เที่ยววิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ? ... ผมเป็นเพียงประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่เฝ้ามองดูการทำงานของรัฐบาลมาตลอด และในบ้างครั้งรู้สึกระคายเคีองกับการแก้ปัญหาลักษณะนี้ มันไม่แปลกและเป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะวิพากวิจารณ์ และอย่างน้อยความคิดของผมอาจใช้ได้ด้วย ...หุๆ
ประเด็นแรก ค่านิยมของวัยรุ่นในปัจจุบันเปลี่ยนไปเร็วแรงตามกระแสของแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นการแต่งตัว, เสื้อผ้า, ทรงผม, ความคิด, การพูดจา, คำพูด, การแสดงออก, การใช้ชีวิต, การอะไรอีกเยอะแยะ กระแสต่างๆ ดังกล่าวมีที่มาจากหลายทาง เช่น สื่อ TV, วิทยุ (สถานีเพลง, DJ),อินเตอร์เน็ต, หนังเกาหลี, ญี่ปุ่น, ภาพยนต์โฆษณา, ภาพยนต์ช่องฟรี TV ทั้งหลายแหล่, เพลงของวัยรุ่น, ดารา, นักร้อง, นักแสดง หรือแม่แต่คนใกล้ตัว, เพื่อนร่วมงาน, ผู้ปกครอง จะเห็นว่าเรื่องนี้มันเยอะแยะและซับซ้อน คนที่เห็นพฤติกรรมของวัยรุ่นเป็นไปในทางที่แปลกๆ เช่น พักอยู่กับแฟน, ขับมอไซต์ซิ่ง, แต่งตัวแปลกๆ, ใช้ของฟุ่มเฟือย หรือมีนิสัยก้าวร้าวหยาบคาย แล้วไม่ทำความเข้าใจกับเหตุผลความเป็นมาของปัญหาเหล่านี้ก็น่าเสียดายปัญญาของตัวเอง
ผมกำลังจะบอกว่าการรับเอาแบบอย่างวัฒนธรรมหลายๆอย่างทั้งจากนอกประเทศ และจากในประเทศของเราเอง ตอนนี้มันเป็นไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะยับยั้งชั่งใจ มือถือเครื่องหนึ่งสามารถกด 1900 เพื่อเข้าสู่บริการหลากหลายประเภท, สร้างคลิปวิดีโอ, ถ่ายรูปแล้วนำเข้าอินเตอร์เน็ตและแพร่กระจายไปใน www อย่างรวดเร็ว เนื่องจากระบบอินเตอร์เน็ตที่กระจายไปทุกหัวระแหง ด้วยราคาค่าเช่าที่ถูกเหลือเชื่อ และความเร็วที่เพิ่มขึ้น อินเตอร์เน็ตเข้าไปถึงในห้องส่วนตัวของเด็กวัยรุ่น เยาวชน นักเรียน, ในโรงเรียน, ในร้านเน็ต ร้านเกมส์ เนื้อหาในอินเตอร์เน็ตมีการอัพเดทกันทุกวินาที และในหลายล้านเว็บไซต์ และยากต่อการควบคุมเนื้อหาและการเข้าถึง เช่นเดียวกันกับเนื้อหาในบทเพลง และการแสดงออกในหนังโฆษณา และหนังน้ำเน่าใน TV ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมฟุ้งเฟ้อ การแย่งผัวเมีย การตบตีกันของนักแสดงหญิง บทเลิฟซีนของนักแสดง นอกจากนั้นชีวิตส่วนตัวของบรรดานักร้อง นักแสดงยังถูกแวดวงซุบซิบนินทาทั้งในหนังสือดาราและสื่ออื่นๆ เป็นที่มันปากของสังคม
ประเด็นต่อมาทุกคนในสังคมนี้มีอิสระที่จะเข้าถึงสื่อที่กล่าวมาได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยน ความคิด ความเชื่อได้ตามเรื่องที่ได้รับรู้อย่างง่ายดาย เพราะกระแสที่โหมกระหน่ำของสื่อต่างๆเหล่านี้กระพือไปเพื่อแลกกับเม็ดเงินมากมายในธรุกิจค้าขายเนื้อหาเหล่านี้ ผ่านมือถือ TV วิทยุ ถามว่า...หน่วยงานใดรับผิดชอบในการคัดกรองเนื้อหาเหล่านี้บ้าง ผมเห็นมีแต่เจ๊คนนึงคอยวิจารณ์การแต่งตัวของดารา แล้วเป็นกระแส และเงียบหายไป สุดท้ายก็เป็นประเด็นให้สังคมสนใจอยู่ระยะหนึ่ง แล้วดาราคนนั้นก็ดังชั่วข้ามคืน...เหอๆ ลองมองย้อนไปดูในอดีตว่ามีใครบ้างที่ถ่ายหนังโป๊ แล้ว TV ก็นำมาออกรายการ และหลังจากนั้นหนังก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หรือว่า ดาราทำจุกล้นบรา แล้วภาพนั้นก็ปรากฎใน TV, อินเตอร์เน็ต ปรู๊ดเดียวเธอก็เป็นที่รู้จักทันที ง่ายอย่างกะปอกกล้วย หากใครอยากจะดังในทุกวันนี้
ย้อนกลับมาดูว่าเรื่องที่เล่ามามันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนในสังคมอย่างไร และจะนำไปสู่วิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างไร (ภายใต้การปฏิบัติอย่างจริงจัง) เรื่องแรกคือเราต้องลบภาพความเชื่อแบบเก่าๆที่คิดว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมจะสามารถเรียกคืนมาได้อีก มันอาจทำได้ในบางท้องถิ่นที่ยังมีการติดต่อกับภายนอกไม่มากนัก และมีความภาคภูมิใจในวิถีดั้งเดิมของชุมชนและที่สำคัญท้องถิ่นหรือชุมชนดังกล่าวสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้ที่ดีพอ และไม่ลำบากเรื่องปัจจัยการครองชีพ แล้วใครล่ะที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมเหล่านี้ ก็คงเป็นในเขตเมืองที่ทุกคนต่างวุ่นวายกันการทำงานหาเลี้ยงชีพ ความเร่งรีบในเมืองหลวง ความพร้อมของสื่อในการให้บริการ ทางเลือกในการดำเนินชีวิตมีหลากหลาย และต้องเพ่งเล็งไปถึงกลุ่มอาชีพนักเรียนนักศึกษา เนื่องจากยังไม่สามารถหารายได้ได้เอง มีอิสระในการดำเนินชีวิตค่อนข้างสูง บางคนจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาเพื่อเรียนหนังสือ และได้รู้จักเพื่อนใหม่มากมายจึงอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ บางคนมีแฟนและต้องการพักอาศัยร่วมกัน เนื่องจากหอพักในมหาลัยเต็ม หรือไม่อนุญาตให้หญิง-ชายพักด้วยกัน บางคนคบเพื่อนและพากันเที่ยวกลางคืน มั่วเซ็กส์ เสพยา เมาสุรา ทั้งๆ ที่กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ขายสุราแก่ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี และรัฐบาลก็ขึ้นภาษีสุราอย่างต่อเนื่อง แต่หารู้ไม่ ไทยเรายังครองอันดับ 5 ของโลกในการบริโภคสุรา ที่สำคัญเยาวชนดื่มมากขึ้น และเพศหญิงดื่มมากกว่าชาย เรื่องนี้ควรจะมีการศึกษาว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้... ยืดอกพกถุงในวัยเรียนเป็นเรื่องที่น่าคิดหรือไม่ว่าจะช่วยป้องกันเอดส์ ป้องกันการท้องก่อนวัยเรียน หรือยิ่งส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีเซ็กส์อย่างสบายใจกันแน่ ครั้งหนึ่งมีครูบาอาจารย์สนับสนุนโครงการตั้งตู้ถุงยางอนามัยในโรงเรียน โดยมีนักเรียนแกนนำมาร่วมโครงการ มีครูยุ่นคัดค้าน หุๆ ... การแก้ไขปัญหาหลายๆอย่างในปัจจุบันดูเหมือนจะยิ่งยากมากขึ้นโดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมของสังคม สิ่งหนึ่งที่สังเกตุเห็นคือ คนในเมืองได้ดู TV หลายช่อง ส่วนคนชนบทได้ดูไม่กี่ช่อง สมองเน่าๆของผมเห็นว่าเราต้องเพิ่มช่องสัญญาณที่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ให้มากกว่านี้ เพิ่มรายการที่มีสาระต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครองเองด้วย ไม่เช่นนั้นทางเลือกที่ยิ่งน้อยจะนำเราไปสู่ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่น้อยตามไปด้วย เหมือนอย่างเว็บไซต์วาไรตี้ทั้งหลายที่นำเสนอภาพลับเฉพาะกันอย่างเนืองๆ คลิปหลุดดารา หนัง AV ต่างๆ อย่างโจ๋งครึ่ม สำหรับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะอาจไม่มีปัญหาในการรับชมนัก แต่ต้องห่วงไยเด็กและเยาวชน และต้องหาทางสกัดสิ่งเหล่านี้ก่อนออกสู่สาธารณะให้มากที่สุด สุดท้ายมันอยู่ที่จิตสำนึกและการเข้มงวดกวดขันว่าจะทำได้มากเพียงใด ยังมีอีกมากที่อยากจะเขียนระบาย แต่คิดได้จะมาเพิ่มทีหลัง...
No comments:
Post a Comment