Monday, February 18, 2008

สรุปประเด็นที่ได้จากการอ่าน "อนาคตระทึกขวัญ"


หนังสือ เรื่อง "อนาคตระทึกขวัญ"

ผู้แต่ง อัลวิน ทอฟเลอร์

ผู้แปล กำพล นิรวรรณ


ผู้เขียนได้อธิบายถึงปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆในโลกที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทิศทางการเปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลอย่างกว้างขวางต่อระบบการดำเนินชีวิต สังคมวิทยา จิตวิทยา ของมนุษย์ นอกจากนั้นอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสังคมยังมีไม่เท่ากัน และในสังคมเดียวกันก็มีความเร็วไม่เท่ากัน ซึ่งทำให้เกิดภาวะที่ไม่สมดุลย์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความคิดขึ้นทั้งในสังคมโลก และที่ผ่านมามนุษย์มีพฤติกรรมในหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งต่อต้าน และยอมรับ ทั้งนี้การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ในแต่ละวัยก็มีความแตกต่างกัน การรับมือกับปัญหาส่วนตัวและส่วนรวมของมนุษย์ต่างมีรูปแบบที่หลากหลายผู้เขียนได้อธิบายถึงสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว ได้แก่


  • การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความต้องการด้านที่อยู่อาศัย อัตราการบริโภคสินค้าและบริการ การใช้เผาผลาญพลังงาน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการก่อมลพิษ

  • การพัฒนาเทคโนโลยีอันเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการพัฒนาเครื่องมือในการทำงาน พาหนะในการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร


ผู้เขียนได้เสนอแนะวิธีการอย่างกว้างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้เขียนได้เสนอแนะให้เปิดกว้างทางความคิด เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับปัญหาต่างๆอย่างมีเหตุผล รวมทั้งการใช้จิตนาการเข้าประกอบการพิจารณาบทบาทของอนาคตที่มีผลกับปัจจุบัน พยายามให้เกิดมุมมองใหม่ต่อระบบการศึกษาและพยากรณ์อนาคต โดยเสนอว่าควรมีการศึกษาเรื่องอนาคตนิยม หรือดินแดนในอุดมคติขึ้น อย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยสังคมต้องเปิดกว้างและให้การยอมรับ โดยร่วมมือกันในหลายนักวิชาการหลายแขนง แล้วนำผลการศึกษามาเผยแพร่ทางสือหลายรูปแบบ เพื่อให้สังคมรับรู้และเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และทดลองใช้ชีวิตพร้อมๆ การปรับตัวภายใต้เงื่อนไขที่จะเกิดขึ้น พัฒนาและใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับมีหน่วยงานตรวจสอบและประเมินเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบ ถึงผลกระทบก่อนนำออกใช้



วิจารณ์
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคมโลก อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของการพัฒนาเทคโนโลยี และการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต สาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดความแตกต่าง เหลื่อมล้ำในหลายๆ สังคม ในเชิงความคิด เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ และนำไปสู่ความขัดแข้งและความไม่เข้าใจกันในวงกว้าง เป็นเหตุให้เกิดกลุ่มสังคมใหม่ๆ ขึ้นเพื่อรองรับและบรรเทากับความตึงเครียดของสถานการณ์ต่างๆ และผู้เขียนยังได้แสดงความวิตกอย่างแรงถึงอนาคตแห่งความสับสนที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาในสังคมโลก และได้หาทางออกด้วยการนำเสนอรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ควรจะเป็น การให้มีหน่วยงานตรวจสอบเทคโนโลยีก่อนนำออกมาเผยแพร่และใช้งาน เป็นต้น
ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบที่ผู้เขียนได้บรรยายถึงจากอดีตถึงปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าคิด และสัมผัสได้ในหลายเรื่อง เนื่องจากผู้เขียนมองภาพในมุมกว้างและพยายามหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์มานำเสนอ ซึ่งหากวิเคราะห์ให้ดีแล้วจะพบว่าเป็นความจริงที่มนุษย์เราได้เดินทางจากอดีตถึงปัจจุบันตามกระแสของโลกาภิวัตน์ คือด้านหนึ่งได้ดำเนินชีวิตไปตามกระแสของการพัฒนาเทคโนโลยี และถูกชักจูงให้ไหลตามวิถีของการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะมนุษย์รวมกันอยู่เป็นสังคม ย่อมถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ และอีกด้านหนึ่งเป็นทางเลือกที่มนุษย์เลือกเองว่าจะดำรงชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์หรือไม่เพียงใด และทั้งสองด้านมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่นั่นไม่เท่ากับการแปลี่ยนแปลงสำคัญๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง ที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของมนุษย์ให้เป็นไปทางใดทางหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่การย้อนคิดถึงผลกระทบจากเรื่องอดีตนั้นอาจไม่จำเป็นเท่ากับการนำประสปการณ์ต่างๆ ในอดีตมาศึกษาเรียนรู้ ป้องกันและแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เพียงแต่จะให้เกิดผลได้ต้องมีความร่วมมือจากนานาประเทศ
ส่วนแนวคิดเรื่องการสร้างเมืองในอุดมคติ มีหน่วยงานตรวจสอบประเมินเทคโนโลยี หรือพยากรณ์เรื่องอนาคต การให้มีนักคิด นักวิชาการในหลายๆ แขนงมาช่วยกันศึกษานั้นก็เป็นแนวคิดที่ดีและน่าดำเนินการ และเป็นทางออกที่น่าสนใจในการลดความรุนแรงของอนาคตระทึกขวัญ และผู้เขียนได้แนะนำให้บุคคลต่างๆเหล่านี้ได้เข้าไปทำงานในหลายๆหน่วยงาน ทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย ตรวจสอบนโยบาย ผลิตภัณฑ์ต่างๆขององค์กร ในด้านที่อาจจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ซึ่งอันที่จริงลักษณะการทำงานดังกล่าวก็น่าจะมีบ้างแล้วเช่นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีผู้เชี่ยวชาญประเมินถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางลดผลกระทบ เป็นต้น แต่เรื่องทั้งหมดจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายกฎหมาย/นโยบาย และฝ่ายปฏิบัติ ภายใต้ความสุจริตใจไร้ความลำเอียงใดๆ และไม่ควรมีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง และร่วมมือกันทั้งโลก มีสนธิสัญญาเป็นเรื่องเป็นราว และมีบังคับและการตรวจสอบที่ชัดเจน

No comments: