Saturday, February 23, 2008

โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล

หนังสือ เรื่อง "โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล"
ผู้แต่ง ริชาร์ด บาก
ผู้แปล ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สรุป
ในตอนแรกที่ “นางนวลโจนาธาน” ฝึกบินเพียงลำพังเพื่อค้นหาวิธีที่จะบินให้ได้เร็วเหนือนางนวลทั้งหมด เขาได้ลองผิดลองถูกจนสามารถบินด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่นางนวลปกติจะทำได้ แต่เขาถูกขับไล่ออกจากฝูงให้กลายเป็น “ตัวหัวเน่า” ฐานประพฤตินอกคอกจาก “กฎของฝูง” ของนางนวลที่ควรจะมีชิวิตอยู่เพื่อ “กิน” เท่านั้น และบอกว่าชีวิตเป็นเรื่องลี้ลับและจะเรียนรู้ไม่ได้ ถึงกระนั้นโจนาธานก็ไม่ได้ลดละความพยายาม เขาเห็นว่าการบินเป็นคำตอบเดียวของนางนวล เป็นทางออกของชีวิต เป็นหนทางแห่งเสรีภาพทั้งปวง และเป็นสิ่งที่นางนวลทุกตัวควรจะมีและแสวงหา โจนาธานไม่อาจจะเข้าถึงหัวใจที่แท้จริงของการบินได้หากปราศจาก “เจียง” นางนวลเฒ่าที่สอนเขาให้รู้จักการบินที่แท้จริงที่จะนำไปสู่หนทางหลุดพ้น จากนั้นโจนาธานก็กลับมาที่ฝูงด้วยความเป็นเลิศในการบิน เขาได้รับการต้อนรับจากนางนวลที่ให้ความสนใจ พร้อมๆกับการต่อต้านและรังเกียจจากฝูงนางนวลบางส่วนที่ยังยึดมั่นในกฎ จากนั้นเริ่มมีนางนวลสมัครเข้าฝึกบินกับเขา และพัฒนาฝีมือในการบินอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้การแนะนำของโจนาธาน หนึ่งในนั้นคือ “นางนวลเฟรตเชอร์” ผู้มีฝีมือเป็นเลิศและเจริญรอยตามโจนาธาน และกลายเป็น “ลูกชายนางนวลผู้ยิ่งใหญ่” ท้ายที่สุดเขาได้สืบทอดการฝึกบินนี้ให้กับฝูงนางนวลทั้งหลาย

วิจารณ์
ผู้เขียนซึ่งมีอาชีพนักบินได้ถ่ายทอดเรื่องราวของนางนวลโจนาธาน ลิฟวิงสตัน ซึ่งเป็นชื่อของนักบินที่เขาชื่นชอบ ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นผู้ที่ชื่นชอบการบินเป็นที่สุด ดังนั้นการบรรยายถึงลักษณะท่าทางของการบินของนางนวลโจนาธานน่าจะกลั่นกรองจากความรู้สึกและแรงบันดาลใจของผู้แต่งเอง และดูเหมือนผู้แต่งจะใส่ตัวตนของเขาเข้าไปในนางนวลโจนาธานด้วย แล้วสอดแทรกความสนุกสนานในการค้นหาวิธีบินให้เร็วจนนำไปสู่การค้นหาตัวตนที่แท้จริง การเข้าถึงแก่นแท้ของชีวิต อันได้แก่เสรีภาพของการดำรงอยู่ การดำเนินเรื่องมีความต่อเนื่องติดตาม มีบางจุดที่มีเรื่องราวเกินจริงและทิ้งความน่าพิศวงไว้ให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการจินตนาการของเนื้อเรื่องด้วย เพื่อชักชวนให้ผู้อ่านเข้าถึงปรัชญาที่แฝงเร้นอยู่และที่เขียนต้องการสื่อออกมา เช่นการที่นางนวลโจนาธานเปล่งแสงได้แล้วหายวับไปกับตา และเปลี่ยนตำแหน่งที่อยู่ผ่านห้วงเวลา หรือการที่นางนวลเฟรตเชอร์พุ่งชนหน้าผาด้วยความเร็วสูงแล้วรอดชีวิตโดยไม่มีอาการบาดเจ็บเลย
ในตอนท้ายของเรื่องผู้เขียนได้ชักนำให้เรื่องราวของหนังสือไม่ได้อยู่ที่ “การบิน” ด้วยความเร็วเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “การแสวงหาความจริงของชีวิต” มากกกว่า และทั้งสองสิ่งกลายเป็นเรื่องเดียวกันในที่สุด ผู้เขียนได้ใช้การฝึกฝนเรื่องความเร็วของการบินปูทางไปสู่การหลุดพ้นได้อย่างแนบเนียน ซึ่งหากจะพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวที่มีผู้วิจารณ์บอกว่าเป็นปรัชญาที่แฝงไว้ในศาสนาพุทธ, คริสต์, ฮินดู ก็ดูจะไม่ผิดนัก และโดยเฉพาะศาสนาพุทธ นั่นคือ “การหลุดพ้น” อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ซึ่งบรรลุลงได้ด้วยการละทิ้งกิเลส ความชั่วทั้งปวง แล้วบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ด้วย ศีล ทาน ภาวนา จนเข้าสู่นิพพาน

Link :

No comments: